ตำนานเมืองเชียงใหม่

         เชียงใหม่ มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ในตำนานแรก ๆ ที่กล่าวถึงเชียงใหม่ อย่างตำ นานว่าด้วยพระธาตุในล้านนา กล่าวถึงลัวะว่าเป็นชนพื้นเมืองมาก่อน ตำนานมูลศาสนา   ชินกาลมาลีปกรณ์และจามเทวี วงศ์ กล่าวเปรียบเทียบลัวะว่าเป็นคนเกิดในรอยเท้าสัตว์ ด้วยเหตุที่ลัวะถือเอารูปสัตว์เป็นสัญลักษณ์ ตำนาน รุ่นหลังอย่าง ตำนานสุวรรณคำแดงหรือตำนานเสาอินทขิล    เล่าว่าลัวะเป็นผู้สร้างเวียง เจ็ดลิน เวียงสวนดอก และเวียงนพบุรีหรือเชียงใหม่ ลัวะจึงน่าจะเป็นชนกลุ่มแรกที่สร้างเมือง แต่ก่อนหน้าที่ก็คงมีมนุษย์อาศัยอยู่ที่นี่ก่อนแล้วแต่ยังไม่เป็นเมืองเต็มรูปแบบ

        ในขณะเดียวกันที่ลำพูน ก็มีเมืองชื่อหริภุญไชย ตามตำนานการสร้างเมืองกล่าวว่า พระนางจามเทวีวงศ์ ธิดากษัตริย์เมืองละโว้เสด็จขึ้นมาครองหริภุญไชยใน พ.ศ. 1310-1311 ครั้งนั้นพระนางได้พาบริวารข้าราชบริพารที่เชี่ยวชาญในศิลปวิทยาการต่างๆขึ้นมาด้วย หริภุญไชย จึงได้รับเอาพุทฑศาสนาและศิลปวัฒนธรรมละโว้มาใช้ในการพัฒนาจนเจริญขึ้นเป็นแคว้นใหญ่

         จวบจน ประมาณปี พ.ศ. 1839 พญามังราย ผู้สืบเชื้อสายมาจากปู่เจ้าลาวจก หรือลวจักราช เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์ลาว ครองเมืองเงินยางซึ่งได้แผ่อำนาจครอบลุมลุ่มแม่น้ำกก และได้สร้างเวียงเชียงราย ขึ้นเป็นกองบัญชาการซ่องสุมไพร่พลเพื่อยึดครองหริภุญไชย เนื่องจากหริภุญไชยเป็นเมืองศูนย์กลาง ความเจริญและเป็นชุมทางการค้า พญามังรายได้เข้ายึดครองหริภุญไชย แล้วประทับอยู่เพียง 2 ปี ก็ทรงย้ายไปสร้างเวียงกุมกาม ใน พ.ศ. 1837 ก่อนจะย้ามาสร้างเวียงเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 1839 โดยได้ร่วมกับพระสหายคือ พญางำเมืองและพ่อขุนรามคำแหง ร่วมกันสถาปนา “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” ขึ้น

            พญามังรายได้พัฒนาเมืองเชียงใหม่ทั้งการก่อสร้างวัดวาอาราม มีการตรากฎหมายที่เรียกว่า “มังรายศาสตร์” รวมถึงรับเอาพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์เข้ามาเผยแผ่ในอาณาจักร ซึ่งทำให้พระภิกษุในล้านนาสนใจศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก สมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์องค์ที่ 9 อาณาจักรล้านนาได้ขยายออกไปอีกอย่างกว้างขวางพร้อมกับได้ผูกสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งสมัยของพระเจ้าติโลกราชนี้เองที่ได้มีการสัยคายนาพระไตรปิฏขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

         อาณาจักรล้านนาเริ่มเสื่อมลงในปลายสมัยพญาเมืองแก้ว เนื่องจากทำสงครามกับเชียงตุงพ่อยแพ้เสียชีวิตไพร่พลเป็นอันมากประกอบกับเกิดอุทกภัย กระทบถึงความมั่นคงของอาณาจักร เมืองในการปกครองเริ่มตีตัวออกห่าง พ.ศ. 2101 ในสมัยมหาเทวีจิรประภา กษัตริย์องค์ที่ 15 พม่าได้ยกกองทัพมาตีเชียงใหม่ เพียง 3 วันก็เสียเมือง และกลายเป็นเมืองขึ้นของพม่ายาวนานถึง 216 ปี

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2317 พญาจ่าบ้านและพระเจ้ากาวิละ ได้ร่วมกันต่อต้านพม่า และอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี ยกทัพมาขับไล่พม่าพ่ายแพ้ไป ต่อมาในสมัยสมด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงแต่งตั้งพระเจ้ากาวิละขึ้นครองเมืองในฐานะเมืองประเทศราช พระเจ้ากาวิละได้ฟื้นฟูเชียงใหม่จนมีอาณาเขตกว้างขวาง การค้าขายรุ่งเรือง ขณะเดียวกันก็จัดส่งบรรณาการ ส่วยสิ่งของและอื่น ๆ ให้แก่กรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งยังมีอำนาจในการแต่งตั้งตำแหน่งเจ้าเมืองและขุนนางระดับสูง

           ล่วงมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่ออิทธิพลตะวันตกแผ่เข้ามาในเมืองไทย มีการปฏิรูปการปกครอง โดยผนวกดินแดนล้านนาเข้าเป้นมณฑลพายัพ แต่ก็ยังเป็นเมืองประเทศราชในอาณัติราชอาณาจักรสยาม ตรงกับรัชสมัยของเจ้าอินทวิชยานนท์ และรัชกาลที่ 5 ได้ทรงขอเจ้าดารารัศมี ธิดาของเจ้าอินทวชยานนท์ไปเป็นชายา ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองอาณาจักรใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

        เมื่อมีการสร้างทางรถไฟขึ้นในเวลาต่อมา ส่งผลให้เมืองเชียงใหม่ขยายตัวยิ่งขึ้นและใกล้ชิดกรุงเทพฯ มากขึ้น ในปี พ.ศ.2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มณฑลเทศาภิบาลถูกยกเลิกเชียงใหม่มีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่ง หลังจากนั้นเชียงใหม่พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จนมีความสำคัญรองจากกรุงเทพฯ เท่านั้น

Leave a comment